เมื่อยอดสร้างรายได้ออนไลน์ เติบโตกว่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

150 150 admin

ยอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็น New Users ในอาเซียนในปีนี้เพิ่มขึ้น 40 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสถิติระหว่างปี 2558-2562 ที่มีผู้ใช้งานออนไลน์ 4 ปี รวมกันอยู่ที่ 100 ล้านคน ทั้งนี้ถ้าดูภาพรวมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอาเซียน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานออนไลน์ คิดเป็น 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีการนิยามธุรกิจที่สร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ว่าเป็น “Internet Economy” ทาง Google, Temasek และ Bain & Company รายงานว่า การเติบโตของ Internet Economy ใน 6 ประเทศสำคัญ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย กระจายตัวอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้ง Food Delivery การเดินทาง Logistic สื่อออนไลน์ บริการทางการเงิน รวมถึง Health Tech และ EdTech

Jackie Wang ผู้อำนวยการ Google ประเทศไทย ระบุว่า ในรายงาน e-Conomy SEA 2020 ประเมินว่าเม็ดเงินจาก Internet Economy ในปี 2563 จะมีมูลค่า 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 5% จากปีที่แล้วที่มีมูลค่า 99,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 309,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 เพิ่มขึ้น 24% จากฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 400 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของจำนวนประชากรในภูมิภาค

สำหรับประเทศไทยเอง ทาง e-Conomy SEA 2020 รายงานว่า มูลค่าของ Internet Economy ของประเทศไทย จะแตะ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 คิดเป็นอัตราโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 25% จากมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ โดยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจมาจากการเติบโตของของอีคอมเมิร์ซ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

Internet Economy ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค

ถ้าถามว่าขนาดของ Internet Economy ของประเทศไทยใหญ่แค่ไหน? ต้องบอกว่า Internet Economy ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียเท่านั้น แม้ว่าปัจจุบัน GDP จะติดลบจากผลกระทบของการระบาด Covid-19 แต่ในรายงานระบุว่า ในช่วงที่เกิด Covid-19 ประเทศไทยกลับมี New Users เพิ่มขึ้น 30% นอกจากนี้แล้วพบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 90% ยังคงซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

การเพิ่มขึ้นของ Internet Economy ของประเทศไทย 2563 ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้น 7% มีมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้านับเฉพาะการเติบโตของ E-Commerce จะเติบโตขึ้นสูงถึง 81% หรือคิดเป็นมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะมี CAGR ในอัตรา 21% ทำให้การเติบโตของ E-Commerce ในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 การเติบโตของ E-Commerce ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะชดเชยรายได้จากการเดินทางและ Food Delivery ที่ลดลง 47% และ 12% ตามลำดับ จากข้อจำกัดของสถานการณ์ Covid-19 ได้  ที่ทำให้เดินทางออกจากบ้านไม่ได้

และนอกจาก E-Commerce แล้ว การเติบโตของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโฆษณา เกม และมิวสิควิดีโอก็เติบโตขึ้นเช่นกัน ซึ่งปกติโตเฉลี่ยปีละ 20% แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเมินว่าสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อบันเทิงจะเติบโตขึ้น เป็น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้น 15% จากปีนี้ที่มีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

ระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ต

สำหรับระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ต ในรายงานระบุว่า ก่อนมีการระบาดของ Covid-19 คนไทยใช้เวลาออนไลน์ 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ก่อนจะเพิ่มเป็น 4.6 ชั่วโมงต่อวันในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างสูง จากสถิติทั่วไปที่เคยสำรวจพบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด เฉลี่ยอยู่ที่  4.3 ชั่วโมงต่อวัน

สำหรับอัตราการใช้งานเฉลี่ยที่สูงของคนไทย ผู้ใช้งาน 8 ใน 10 คน มองว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญมากในช่วงที่เกิดโรคระบาด Covid-19 และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้

 

จุดประสงค์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต

โดยเฉลี่ยชาวอาเซียนใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของ Covid-19 ที่ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงการซื้อสินค้า เฮลท์แคร์ การศึกษาและการบันเทิงต่าง ๆ ได้ ช่องทางออนไลน์จึงเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ ที่เปรียบเป็น “keep the lights on” ช่วยสร้างอนาคตให้กับธุรกิจได้ในช่วงวิกฤต

 

เครื่องยนต์ใหม่

ในโลกยุค New Normal นี้ HealthTech และ EdTech จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการนำดิจิทัลมาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์และการศึกษา

 

กรมสรรพากรเตรียมจัดเก็บภาษีเข้าระบบ 500,000 ราย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมฯ มีแผนขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีร้านค้าออนไลน์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Youtuber ที่อยู่นอกระบบจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีผู้อยู่นอกระบบภาษีกว่า 6 ล้านคน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีนำรายได้เข้ารัฐ ทางกรมฯ จึงตั้งเป้าดึงผู้ที่อยู่นอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบการจ่ายภาษี 500,000 ราย ทั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร้องเรียนกับทางกรมฯ ได้โดยตรง หากพบร้านค้าออนไลน์หรือ Influencer ที่ไม่ได้จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง รวมถึงจะมีการคืนเงินให้กับผู้ประกอบการ หากมีการจัดเก็บภาษีซ้ำ ทั้งนี้นายเอกนิติระบุว่า การปรับการคำนวณภาษีแบบใหม่ ที่เตรียมเก็บภาษีออนไลน์นี้ อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง

สำหรับข้อมูลการเสียภาษีในปีงบประมาณ 2563/64 ประชากรไทย 70 ล้านคน มีผู้เสียภาษี 9.55 ล้านราย และในรอบเก็บตก (สิ้นสุดเมื่อก.ย.63) อีกประมาณ 250,000 ราย ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 25,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี ประมาณ 3.3 ล้านราย และมีผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์อีก 6.25 ล้านราย

สำหรับปีงบประมาณ 2564/65 กรมสรรพากรตั้งเป้าหมายจัดเก็บภาษี 2.085 ล้านล้านบาท มาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเติม (VAT) สัดส่วน 40% ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีจากผู้ประกอบการนั้น ปีงบประมาณที่แล้วมีผู้ประกอบการที่ยื่นภาษีเพียง 450,000 ราย จากธุรกิจที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 600,000 ราย ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564/65 จึงตั้งเป้าจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 150,000 ราย จากปีนี้

 

ติดตามช่องทางสำหรับรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่ 

Youtube: Interloop Solutions & Consultancy

Leave a Reply

Your email address will not be published.