asian women working at home

ธนาคารสามารถพัฒนาการให้บริการธุรกิจ SME ในไทยได้อย่างไร

900 600 jai

ธนาคารสามารถพัฒนาการให้บริการธุรกิจ SME ในไทยได้อย่างไร

หัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับเครือข่ายที่หนาแน่นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท บริษัทลักษณะดังกล่าวมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านแห่ง คิดเป็นประมาณ 35% ของ GDP ของประเทศ และมีการจ้างงานสูงกว่า 70% ของแรงงานรวม โดยปกติแล้วธุรกิจ SME ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของธนาคารซึ่งสร้างรายได้เกือบ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 25% ของรายได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ SME ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงนวัตกรรมและความสามารถในการปรับตัวหลังจากเกิดโรคระบาด โดยออนไลน์กลายเป็นช่องทางการขายหลักสำหรับ 1 ใน 4 ของกิจการทั้งหมด และสามารถเพิ่มขึ้นได้มากถึง 75% ภายในปี 2026 จากการสำรวจของ McKinsey เกี่ยวกับ SME ไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งใช้แพลตฟอร์มของบุคคลที่สามในการขาย และมากกว่า 70% มีการนำเสนอผ่านหลายช่องทาง

กล่าวโดยสรุปคือ SME ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัลและหลายช่องทางอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงความต้องการที่ธุรกิจมีต่อธนาคาร แต่ธนาคารส่วนใหญ่นั้นตอบสนองได้ช้า แม้ว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบจะเป็นเรื่องยากสำหรับ SME มาตลอด แต่ในปัจจุบันนี้ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมากกว่า 50% ของ SME ในยุคดิจิทัล ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเว็บ เช่น ผู้ค้าอีคอมเมิร์ซและผู้ให้บริการอาหารออนไลน์ ต่างประสบปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อที่เพียงพอ เนื่องจากมักมีประวัติผลการดำเนินงานทางธุรกิจที่จำกัดและมีวงจรเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 30%

แม้แต่ธุรกิจ SME ด้านดิจิทัลก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการธนาคารรูปแบบใหม่หรือความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองในสถานการณ์ที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้ พวกเขาต้องการระบบชำระเงินแบบหลายช่องทาง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายแพลตฟอร์ม (หน้าร้าน เว็บไซต์ของตัวเอง หรือแพลตฟอร์มของบุคคลที่สาม) และการรับเงินจากแพลตฟอร์มของบุคคลที่สามที่รวดเร็ว รวมถึงการวิเคราะห์ธุรกิจที่ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ปัญหาเดิม ๆ ที่ SME มีกับธนาคารก็ยังคงมีอยู่ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของ SME ที่ถูกสำรวจกล่าวว่าธนาคารใช้เวลาในการดำเนินการสินเชื่อนานกว่าที่คาดไว้ถึงสองเท่า และมากกว่า 40% บ่นเรื่องเอกสารที่ยุ่งยาก รวมถึงข้อกำหนดด้านหลักประกันและอัตราดอกเบี้ยที่สูง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมกิจการจำนวนครึ่งหนึ่งจึงเลือกกู้ยิมเงินจากธนาคารที่ไม่ใช่ธนาคารหลัก และทำไมมากกว่า 2 ใน 3 จึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ

สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแต่กลับกันก็เป็นโอกาสสำหรับธนาคารเองเช่นกัน การจัดการกับปัญหาดังกล่าวอาจทำให้มีการเติบโตได้ถึง 7% ต่อปี ในกลุ่มธนาคาร SME ของไทย ซึ่งจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้สำหรับภาคการธนาคารโดยรวมที่ 4-5%

ในการทำเช่นนั้นธนาคารจำเป็นต้องทำ 4 สิ่งให้ถูกต้อง

นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของ SME

  • มากกว่า 55% ของ SME มองว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการเลือกธนาคารหลักของพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธนาคารต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น ระบบบัญชีที่ช่วยให้ชำระเงินผ่านหลากหลายช่องทางได้อย่างสะดวก การรวมยอดที่เร็วขึ้น และตัวเลือกในการรวมบัญชีส่วนตัวและบัญชีธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่ง SME ของไทยนั้นประกอบไปด้วยธุรกิจประเภทต่าง ๆ มากมาย ธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการและความยากลำบากเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละกลุ่ม จากนั้นจึงส่งมอบบริการที่เรียบง่ายซึ่งปรับให้เหมาะกับธุรกิจแต่ละประเภทแล้ว

พลิกโฉมการบริหารความเสี่ยงผ่านข้อมูลและการวิเคราะห์

  • การคิดคะแนนเครดิตโดยใช้ข้อมูลจากคู่ค้า (เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม) ที่มีประสิทธิภาพสามารถใช้แทนการพิจารณาด้วยบุคคลซึ่งกินระยะเวลานานได้ อีกทั้งธนาคารยังสามารถใช้งานระบบ AI ในการติดตามและแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบด้วยแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด สร้างแบบจำลองเชิงทำนาย และรวมเข้าด้วยกันเป็นระบบเว็บเซอร์วิสที่ใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น

พัฒนาการเริ่มต้นใช้งานและการบริการที่มีประสิทธิภาพ

  • หลักการคือการสร้างความสามารถในการเชื่อมต่อจากออฟไลน์สู่ออนไลน์และออนไลน์สู่ออฟไลน์ที่ไร้รอยต่อเพื่อสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของธุรกิจ SME นั้นต้องการใช้บริการของธนาคารผ่านช่องทางที่หลากหลาย แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของบริการธนาคาร เช่น การขอสินเชื่อ มักถูกจำกัดไว้เพียงแค่ช่องทางดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่

สนับสนุนการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง

  • มองภาพไปให้ไกลกว่าบริการธนาคารแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น การให้บริการสนับสนุนในการดำเนินงานทางธุรกิจหลัก เช่น บัญชีเงินเดือน บริการบัญชี การจัดการค่าใช้จ่าย ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และภาษี สามารถช่วยให้ธนาคารเป็นพันธมิตรที่น่าสนใจมากขึ้น หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นไปได้ที่จะสร้างแพลตฟอร์มการค้าที่สามารถเชื่อมโยง SME เข้าด้วยกันหรือสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจส่งออกและนำเข้าของพวกเขา McKinsey ประเมินว่าในประเทศไทยมีสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากกว่า 4 ล้านล้านบาท ในกลุ่มธุรกิจ SME ยิ่งไปกว่านั้นครึ่งหนึ่งของที่ถูกสำรวจระบุว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก สำหรับธนาคารนี่จึงเป็นหนึ่งในศักยภาพที่หายไป ในยุคแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นในปัจจุบัน ยังมีช่องทางอีกมากที่ธนาคารในประเทศจะทำได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับอนาคตของตัวบริษัทเองเองและสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published.