อนาคต ‘เศรษฐกิจโลก’ จะกลับมาสดใสขึ้นจริงหรือ?

854 480 admin

จากมุมมองทางเศรษฐกิจตัวเลขส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงดูแย่ลงโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ตัวเลขการจ้างงาน ยอดค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ในยุโรปดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคบริการมีการหดตัวในช่วงปลายปี 2563 ในญี่ปุ่นนักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดว่าจะได้เห็นตัวเลขการใช้จ่ายลดลงเป็นระดับเลขสองหลักในไตรมาสนี้ มีแค่ประเทศจีนเท่านั้นที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่สี่ แน่นอนว่าสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรง รวมถึงการล็อกดาวน์ในบางกรณีหลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเข้าใกล้ 100 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคน โดยมาตรการต่าง ๆ มีความเข้มงวดเป็นพิเศษในฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ รวมถึงในบางส่วนของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

 

อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปข้างหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความหวังมากขึ้น พวกเขาชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลักสองประการคือ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน Joe Biden ประกาศภารกิจที่ทะเยอทะยานสำหรับ 100 วันแรก ซึ่งรวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ มาตรการดังกล่าวรวมถึงการมอบเงิน 2,000 ดอลลาร์ให้กับคนมีรายได้น้อยและปานกลางที่มีสิทธิ์หลายล้านคน และเพิ่มสวัสดิการการว่างงานเป็น 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์จนถึงเดือนกันยายน และยังเสนอที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงจาก 7.25 ดอลลาร์ เป็น 15 ดอลลาร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักยุทธศาสตร์หลายคนปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้อย่างรวดเร็ว

 

ปัจจัยบวกจากวัคซีน

ในส่วนการฉีดวัคซีนคาดว่าจะมีการอนุมัติวัคซีน AstraZeneca ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในสหราชอาณาจักรอินเดีย และที่อื่น ๆ ข่าวนี้เมื่อรวมกับการเร่งการกระจายและการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในตะวันตกทำให้ทางการตั้งเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตนให้ได้มากที่สุดโดยเร็วที่สุด ในยุโรปทางการตั้งเป้าว่า 70% ของประชากรทั้งหมดจะได้รับการป้องกันภายในกลางปีนี้

 

จากปัจจัยสำคัญสองประการนี้ทำให้มีความเห็นสรุปได้ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง นักเศรษฐศาสตร์และนักยุทธศาสตร์เห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะการแจกเงินสด การเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้ด้อยโอกาส และการเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่ประธานาธิบดีคนใหม่ให้สัญญาไว้

 

การกระตุ้นเพิ่มเติมจะมาจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้สามารถปลดปล่อยความต้องการที่ถูกเก็บไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพักผ่อนและการเดินทางซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นได้ พูดง่าย ๆ คืออนาคตกำลังสดใส แม้ว่ามุมมองเหล่านี้จะมีเหตุผลรองรับแต่เราก็รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ความเชื่อที่ว่ามาตรการกระตุ้นทางการเงินต่าง ๆ จะนำไปสู่การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในปีนี้นั้นค่อนข้างถูกประเมินสูงเกินไป

 

หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่าการแจกเงินจะได้ผลหากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว แต่หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประสิทธิภาพของการสนับสนุนเพิ่มเติมจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลการขาดดุลต้องได้รับการแก้ไขจากการขึ้นภาษีในอนาคต ถ้าเป็นเช่นนั้นผู้คนจะประหยัดเงิน (เพื่อจ่ายภาษีในอนาคต) หรือชำระหนี้เก่ามากกว่าใช้จ่ายในตอนนี้ ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Ricardian Equivalence”

 

 

การควบคุมที่เข้มงวด

กฎระเบียบทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นภายใต้การบริหารของ Biden อาจหมายความว่าตลาดควรเตรียมพร้อมสำหรับยุคใหม่ของการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น คนที่ประธานาธิบดีเลือกให้เป็นหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และสำนักคุ้มครองทางการเงินของผู้บริโภคถูกมองว่าเป็นผู้แทรกแซงมากกว่ารุ่นก่อน ๆ

 

ตัวอย่างเช่นหน่วยงานกำกับดูแลอาจเข้าควบคุมแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์หรือการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และหากหน่วยงานทางการเงินของสหรัฐฯ เริ่มกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในอุตสาหกรรมการเงิน ก็มีแนวโน้มว่าหน่วยงานอื่น ๆ จะปฏิบัติในลักษณะเดียวกันด้วยระดับที่แตกต่างกันไป

 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาซึ่งอาจดื้อต่อวัคซีนมากขึ้นในอนาคต รวมถึงยังมีคำถามที่ว่าผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะรู้สึกมั่นใจเพียงใด ต่อให้โครงการฉีดวัคซีนจะประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากหนี้ครัวเรือนและภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าในระยะใกล้ภาพจะดูสดใสมาก แต่ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มเติมเกิดขึ้นในระยะยาว

 

ความคาดหวังที่สูงเกินจริงสำหรับนโยบายการเงิน การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กฎทางการเงินที่เข้มงวด การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า และความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัส เป็นสิ่งที่ต้องกังวลในอนาคต แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้นภาพเศรษฐกิจและการลงทุนที่สดใสยังคงปรากฏให้เห็นอยู่

 

 

ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจไม่รุนแรง

แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้าง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของสถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับระลอกแรก เนื่องจากผลกระทบของไวรัสยังไม่เด่นชัดและมีการเตรียมการด้านสาธารณสุขรวมถึงแผนการฉีดวัคซีนไว้เป็นอย่างดี

 

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ชี้แจงในสัปดาห์นี้ว่าธนาคารกลางเห็นว่าการติดโควิด-19 ระลอกใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับระลอกแรก เนื่องจากมีธุรกิจที่หยุดดำเนินการน้อยลงและประชาชนทั่วไปมีการเตรียมพร้อมที่ดีขึ้น มาตรการของรัฐในเวลานี้ยังเข้มงวดน้อยกว่าและเปิดโอกาสให้ภาคการส่งออกดำเนินต่อไปได้ตามปกติ หากการควบคุมในช่วงครึ่งปีแรกได้ผลดีคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. เล็งเห็นว่าการฟื้นตัวจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่ เนื่องจากมี 28 จังหวัดอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตอย่างเปราะบางมากขึ้นเนื่องจากการสูญเสียรายได้ ได้แก่ ธุรกิจในภาคบริการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีความอ่อนแอทางการเงินอยู่แล้ว คาดว่าจะมีแรงงานประมาณ 4.7 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอิสระในพื้นที่สีแดงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ธนาคารเชื่อว่าคนงานและธุรกิจที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ร่วมกับรัฐอย่างต่อเนื่อง

 

ติดตามช่องทางสำหรับรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่
Youtube: Interloop Solutions & Consultancy

Leave a Reply

Your email address will not be published.