เริ่ม Digital Banking ตอนนี้ เพราะมันจะกลายเป็นมาตรฐานในไม่ช้า
The Monetary Authority of Singapore (MAS) ประกาศมอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Digital Banking ให้กับผู้ยื่นขอที่ได้รับเลือก หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มงวด ซึ่งล่าช้าและถูกขยายเวลาออกไปหลายครั้งเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ปัจจุบันมีการออกใบอนุญาต 4 ใบ โดยแบ่งเป็นใบอนุญาตแบบ Digital Full Bank (DFB) ให้แก่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโดย Sea Ltd. และหุ้นส่วนระหว่างกลุ่มกิจการโทรคมนาคมในประเทศ Singtel และผู้ให้บริการยานพาหนะผ่านแอปพลิเคชัน Grab ส่วนใบอนุญาตแบบ Digital Wholesale Bank (DWB) ออกให้แก่ Ant Group ของจีน และหุ้นส่วนระหว่าง Greenland Financial, Linklogis HongKong และ Beijing Co-operative Equity Investment Fund Management จากข่าวนี้ MAS ได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงทิศทางสำหรับอนาคต และอนาคตนั้นก็คือดิจิทัล
เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและธุรกิจ
ลูกค้าของ Digital Banking จะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการติดต่อกับธนาคารและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น แม้ว่าบริการดิจิทัลส่วนใหญ่จะมีให้บริการผ่านธนาคารแบบดั้งเดิมในสิงคโปร์อยู่แล้ว แต่การเปิดอุตสาหกรรมให้แก่กลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ รวมถึงลดต้นทุนในการจัดหาเงินทุนสำหรับผู้บริโภค
การใช้เทคโนโลยีของ Digital Banking ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานน้อยลงอย่างมาก เนื่องจากจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และยังมีเทคโนโลยีที่เข้ามาทำหน้าที่แทนพนักงานปกติ การลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถส่งต่อไปยังผู้บริโภคในรูปแบบของค่าธรรมเนียมที่ต่ำ (หรือไม่มีเลย) และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการ Digital Banking จะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเนื่องจากการใช้เทคโนโลยี เช่น AI และการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมและกิจกรรมทางการเงินในอดีต ทำให้สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าได้
แน่นอนว่าการมีบริการ Digital Banking มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย แม้จะมีผู้ให้บริการมากขึ้นแต่ก็ยังคงมีผู้ที่เลือกการทำธุรกรรมกับพนักงานในสาขาจริง หรือผู้ที่ขาดความรู้ด้านดิจิทัลในการใช้งาน MAS และผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจึงจะต้องให้การศึกษาและเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับ Digital Banking ทั้งเรื่องความปลอดภัยและวิธีการใช้งาน
ธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ก็ได้รับประโยชน์จาก Digital Banking ด้วยการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากขึ้น การเข้าถึงเงินทุนและวงเงินสินเชื่อที่ดีขึ้น และการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เช่นกระบวนการสมัครที่ยุ่งยาก ใบอนุญาตที่ออกให้กับ Digital Wholesale Banks ทั้งสองแห่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถให้บริการด้านการธนาคารแก่ SMEs และธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ค้าปลีกได้ SMEs ในสิงคโปร์นั้นเคยไม่พอใจมาก่อนว่าเงื่อนไขการกู้ยืมที่พวกเขาได้รับจากธนาคารแบบดั้งเดิมนั้นไม่น่าสนใจ
จากการสำรวจและวิจัยความสามารถในการเข้าถึงการเงินของ SMEs พบว่ามีเพียง 39% เท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับเงินทุนทางธุรกิจในปี 2562 นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่น ๆ สำหรับธุรกิจ แม้ว่าการขอสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กอาจใช้เวลาถึงสามเดือนตั้งแต่การสมัครจนถึงการอนุมัติ แต่ลูกค้าธุรกิจที่เข้าถึงผลิตภัณฑ์ Digital Banking แบบใหม่อาจใช้เวลาเพียง 15 นาที
ขั้นตอนการขอสินเชื่อแบบเดิมต้องใช้ความสามารถของมนุษย์เป็นอย่างมากในการตรวจสอบตัวเลขทางการเงิน ประเมินความเสี่ยง และวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของ Digital Banking ใหม่ ๆ ใช้ AI การวิเคราะห์ข้อมูล และการธนาคารแบบเปิดเพื่อทำการตัดสินใจแบบเดียวกันนี้ ด้วยความเร็วที่มากขึ้นและมีพื้นที่สำหรับความผิดพลาดของมนุษย์น้อยลง
สิ่งนี้จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงสำหรับ MSMEs ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบริการทางการเงิน เนื่องจากพวกเขาต้องการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด การประหยัดเวลาในขั้นตอนการขอสินเชื่อทำให้เข้าถึงแหล่งเงินได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจเป็นความแตกต่างระหว่างการดำเนินงานต่อกับการปิดกิจการ
ภูมิภาคอื่น ๆ กำลังเผชิญกับความท้าทาย
การออกใบอนุญาตใหม่เหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่ภาคการธนาคารและบริการทางการเงินของสิงคโปร์พบเห็นมาในช่วงหลายชั่วอายุคน ผู้สมัคร 10 กลุ่มที่พลาดใบอนุญาตจะต้องประเมินกลยุทธ์อีกครั้งและอาจมองไปที่ภูมิภาคอื่น ๆ ในการเริ่มเข้าสู่ Digital Banking
ซึ่งรวมถึง Razer บริษัทเทคโนโลยีเกมชั้นนำระดับโลกของสิงคโปร์ซึ่งได้ระบุไว้แล้วว่าความมุ่งมั่นในการขยายไปสู่บริการทางการเงินดิจิทัลยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะต้องหาประเทศอื่น ๆ เพื่อเปิดตัวก็ตาม
มีประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่เริ่มมีการทดลองใช้ Digital Banking โดยฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ได้เปิดรับผู้ให้บริการรายสำคัญเข้าสู่ตลาดแล้ว ส่วนมาเลเซียก็จะเริ่มเปิดรับคำขอในเร็ว ๆ นี้โดยจะมีการออกใบอนุญาตมากถึง 5 ใบในปีหน้า
การแข่งขันที่มากขึ้นและการเข้าถึงบริการทางการเงิน
การเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับอื่น ๆ ที่ประกาศโดย MAS ได้แก่ การเปิดช่องทางการเข้าถึงการชำระเงินแบบเรียลไทม์สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถให้บริการชำระเงินด้วยความเร็วเทียบเท่ากับธนาคารได้
นอกจากนี้จะมีการเปิดตัว Open Banking Portal ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Financial Planning Digital Services (FPDS) เพื่อให้ลูกค้าสามารถแชร์ข้อมูลทางการเงิน การประกันภัย และการลงทุนส่วนบุคคลระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการต่าง ๆ รวมถึงสามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการทางการเงินได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
ธนาคารแบบดั้งเดิมจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขีดความสามารถเพื่อแข่งขันในยุค Fintech นี้ พวกเขาต้องทบทวนว่าปัจจุบันให้บริการลูกค้าและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างไร เพราะท้ายที่สุดพวกเขาต้องแข่งขันไม่เพียงแต่กับธนาคารดิจิทัลใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วย
ในขณะที่ธนาคารแบบดั้งเดิมผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อแข่งขันกับธนาคารดิจิทัลและบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคจะพบว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของระบบธนาคารที่มีนวัตกรรม ต้นทุนต่ำและให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นข่าวดี
Leave a Reply