ปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในอาเซียน และถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เศรษฐกิจเวียดนามก็ถือว่าโตเร็วเช่นกัน พิสูจน์ได้จากการเป็นที่นิยมในเชิงการท่องเที่ยวและในแง่การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมาจากโอกาสทางเศรษฐกิจและการเผชิญกับความท้าทายที่สร้างแรงกดดันให้กับการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากระบบราชการที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามโตเร็ว มาจากการที่ล่าสุดเวียดนามได้เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคีกว่า 40 ข้อ ที่ช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในเวียดนามเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ นอกเหนือจากกรอบการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้านภาษี ตลอดจนความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ ที่มาจากการปฎิรูปกฎหมาย และกฎระเบียบภายในของเวียดนาม
เหตุผลที่คุณควรลงทุนในเวียดนาม
1. ยุทธศาสตร์ที่ตั้งประเทศ เป็นทำเลในอุดมคติทางการค้า
ตำแหน่งที่ตั้งของเวียดนาม เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเวียดนามตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Asian) มีพื้นที่ประมาณ 330,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.)
ในแผนที่จะเห็นว่า “เวียดนาม” เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดบนคาบสมุทรอินโดจีน ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่มีทำเลที่ได้เปรียบ ทำให้เวียดนามเป็นประตูสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยทางตอนเหนือเวียดนามมีพรมแดนติดกับจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน
ขณะเดียวกันด้านทิศตะวันตกติดกับลาว และกัมพูชา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่ตั้งของเวียดนาม จึงเชื่อมต่อกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ มะนิลา ฮ่องกง ไต้หวัน โตเกียว โซล นิวเดลี ซึ่งประเทศเหล่านี้ ใช้เวลาบินเพียงไม่กี่ชั่วโมง นอกจากนี้ยังขนานไปกับเส้นทางการค้าทางทะเลของเอเชียที่มีแนวชายฝั่งยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร (กม.) และท่าเรือน้ำลึกระดับโลก เวียดนามจึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ ที่มาจากสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการติดต่อกับจีน ประเทศในเอเชียตะวันออก แอฟริกาและยุโรป
2. ขนาดของตลาดและศักยภาพในการเติบโต
เวียดนามมีประชากรประมาณ 90 ล้านคน ติดอันดับประเทศที่มีประชามากอันดับ 3 ของ Asian และติดอันดับที่ 13 ของโลก ทำให้เวียดนามมีศักยภาพทางการตลาดมหาศาล เมื่อคิดจะลงทุนทำธุรกิจก็ทำกำไรได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงทำให้เศรษฐกิจเวียดนามโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้ต่อหัว (GDP per Capita) เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากมากกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี 2548 เพิ่มเป็นเกือบ 2,185 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี 2559
ดังนั้นโครงสร้างประชากรจึงเปลี่ยนไปด้วย โดยสัดส่วนประชากรที่มีรายได้ระดับปานกลาง-บน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปี 2573 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่า 1% แม้ว่าปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่างก็ตาม ขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีรายได้สูงก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากสถิติของ World Bank รายงานว่า ในปี 2559 เวียดนามมีประชากรที่รายได้สูงประมาณ 200 คน (มีทรัพย์สินมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป) ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวเวียดนามก็เปลี่ยนไปมาก ให้น้ำหนักกับการจับจ่ายใช้สอย หรือการซื้อสินค้าเพื่อยกระดับฐานะทางสังคมมากขึ้น ความต้องการด้านการบริการ และค้าปลีกสมัยใหม่จึงเพิ่มสูง ธุรกิจเซ็คเตอร์ดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
3. การเปิดเสรีทางการค้า
รัฐบาลเวียดนามพยายามจะเปิดประเทศ เชื่อมโยงเศรษฐกิจเวียดนามสู่เศรษฐกิจโลก หลังจากเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการ และได้เข้าร่วมในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศหลายฉบับรวมถึงเข้าร่วมเขตการค้าเสรี (FTA) และอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ตลาดเวียดนามน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ในสายตานักลงทุนต่างชาติ
การเปิดเสรีการค้าทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553-2556 การส่งออกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 23.12% โดยเฉพาะในเซ็คเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เสริม อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า โดยตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามคือ ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกากลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน
4. การปรับปรุงกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2529 รัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินโครงการปฏิรูปแบบครบวงจรที่เรียกว่า “Doi Moi” จากแนวคิดเดิมที่เป็นการปฏิรูปสังคมนิยม โดยแนวคิด Doi Moi เป็นการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า ลดการผูกขาด เน้นไปที่การส่งเสริมภาคเอกชน ให้ครอบคลุมในหลายด้าน ๆ พร้อมกันนั้นรัฐบาลเวียดนามได้ปรับปรุงกรอบกฎหมาย เพื่อสร้างการลงทุนที่โปร่งใสและเป็นธรรมสำหรับนักลงทุน เช่น กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มในปี 2558 ว่าด้วยวิสาหกิจกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน และกฎหมายที่อยู่อาศัย
การปฏิรูปกฎหมายและโครงสร้างเศรษฐกิจนี้เป็นเรื่องสำคัญ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลจากการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ World Economic Forum รายงานความสามารถในการแข่งขันระดับโลกปี 2557-2558 ว่าเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 68 เพิ่มขึ้น 2 อันดับ เมื่อเทียบกับปี 2556-2557
5. เสน่ห์ของการลงทุนในเวียดนาม
ปัจจุบันถือเป็นยุคทองของเวียดนาม เนื่องจากโครงสร้างประชากร เป็นคนวัยแรงงานมากกว่า 50% และมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยในปี 2548-2557 ผลิตภาพแรงงานเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 3.7% ต่อปี ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่าสัดส่วนวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้นนี้ นอกจากช่วยลดช่องว่างของระดับฝีมือแรงงานในประเทศเวียดนามเองได้แล้ว ผลของการฝึกทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งเร่งให้เศรษฐกิจเวียดนามโตอย่างก้าวกระโดด จากโครงสร้างประชากรที่ดี
ดังนั้น โดยสรุปนอกจากทำเลที่ตั้ง การปรับปรุงกฎหมาย การเพิ่มความโปร่งใสการประกอบธุรกิจ และสัดส่วนแรงงานที่มีความเหมาะสม ทำให้ต้นทุนการจ่ายค่าแรงงานของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำ จึงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ และยิ่งมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ก็ยิ่งทำให้บุคลากรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีแต่คนเก่ง ๆ หรือคนมีความรู้ความสามารถ บรรยากาศการทำงานบางส่วน อาจรับวัฒนธรรมทางธุรกิจตะวันตก หรือจากจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ การลงทุนในเวียดนามจึงถือว่ามีความได้เปรียบทั้งจากองค์ประกอบ และเสน่ห์ของตลาด ที่กระตุ้นการลงทุนจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจ
InterLoop เราพร้อมช่วยเหลือนักลงทุนในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อให้การจัดตั้งธุรกิจในเวียดนามของคุณเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถติดต่อได้ที่ Line ID: @inlps และเบอร์โทรศัพท์ 097-106-9113
Leave a Reply