วันนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยให้สิทธิประโยชน์การลงทุนกับโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (BEV) การผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ในท้องถิ่น การส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์และกิจการรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้ทางคณะกรรมการมีมติเห็นชอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่า 35,700 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมหลายเซ็คเตอร์ด้วยกัน
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน EV อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยในวันนี้บีโอไอได้อนุมัติแพ็คเกจ EV ใหม่ เพื่อส่งเสริมภาคการผลิต ซึ่งเป็น Supply Chain ในประเทศไทย สู่การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมและความสามารถการแข่งขันของประเทศ
แพ็คเกจ EV ใหม่
สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนแพ็คเกจใหม่นี้ จะมาแทนแพ็คเกจชุดแรกที่จะสิ้นสุดมาตรการในปี 2561 โดยแพ็คเกจใหม่จะครอบคลุม EV ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล รถประจำทาง รถบรรทุก มอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ และเรือ โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุน EV มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
- รถ 4 ล้อหรือโฟว์วีล
โครงการที่ผ่านการอนุมัติจากบีโอไอ จะต้องมีมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท สำหรับโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEV) จะได้รับการยกเว้นภาษี 3 ปี ส่วนโครงการ BEVs จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และอาจจะได้รับสิทธิการขยายเวลาเพิ่มเติม หากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา (R&D)
ส่วนโครงการที่ผ่านการอนุมัติ แต่มีมูลค่าการลงทุนรวมน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งโครงการ PHEV และ BEVs จะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถรับสิทธิ์ขยายเวลายกเว้นภาษีเพิ่มเติม ในกรณีที่เป็นโครงการ BEV และมีคุณสมบัติตรงกับที่บีโอไอกำหนด เช่น เริ่มการผลิตภายใน 2565 หรือมีการผลิตชิ้นส่วนเพิ่มเติม ขั้นต่ำ 10,000 ยูนิต ภายใน 3 ปี รวมถึงหากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่าย R&D
- มอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ รถบัสและรถบรรทุก
โครงการที่ผ่านการอนุมัติจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้หากผู้ประกอบการมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดเพิ่มเติม ก็อาจจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มตามความเหมาะสมของโครงการนั้น ๆ
- เรือไฟฟ้าที่มีระวางบรรทุกน้อยกว่า 500 ตันกรอส
จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
นอกจากนี้บีโอไอยังปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า เพิ่มเติมรายอีก 4 รายการได้แก่ 1.High Voltage Harness 2.Reduction Gear 3.Battery Cooling System และ 4.Regenerative Braking System ซึ่งทั้ง 4 รายการนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี
เพื่อส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ EV ในประเทศ นอกจากนี้บีโอไอยังได้อนุมัติมาตรการจูงใจเพิ่มเติม โดยให้สิทธิการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี ในกิจการแบตเตอรี่ที่มีขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell
อย่างไรก็ตามช่วงก่อนหน้านี้บีโอไออนุมัติโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 26 โครงการ เช่น กิจการ Hybrid Electric Vehicles (HEV) จำนวน 6 ราย กิจการ PHEV 2 ราย ได้แก่ Mercedes Benz และ BMW กิจการ BEV 2 ราย ได้แก่ FOMM และTakano นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯ EV ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 14 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ 10 โครงการ
กิจการวิจัยทางคลินิก
สำหรับกิจการวิจัยทางคลินิก เป็นนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่บีโอไอต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในด้าน Medical Hub โดยได้ปรับมาตรการจูงใจใหม่เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินกิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก หรือ Contract Research Organization (CRO) และศูนย์การวิจัยทางคลินิก หรือ Clinical Research Center (CRC) โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการอนุมัติโครงการจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี
ทั้งนี้เงื่อนไขของโครงการจะต้องมีการจ่ายเงินเดือนนักวิจัยใหม่ สัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี หรือต้องเป็นโครงการที่มีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินทุนหมุนเวียนและยานพาหนะ)
กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ และบริการดูแลผู้สูงอายุ
เพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย บีโอไอจึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับธุรกิจบริการผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง โดยกิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดเตียงรองรับอย่างน้อย 50 เตียง ส่วนบริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี มีขนาดเตียงรองรับอย่างน้อย 50 เตียง และจะต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50%
คืนสถานะการทำ IPO อีกครั้ง
นอกจากนี้ล่าสุดบีโอไอได้เปิดให้มีกิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบระหว่างประเทศ (International Procurement Office: IPO) อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการฟื้นสถานะ IPO เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาคการผลิต ซึ่งเป็นเซ็คเตอร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค
อย่างไรก็ตามธุรกิจ IPO จะได้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อการส่งออก เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการเสริงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ที่สำคัญ
การขยายเวลาและเปลี่ยนชื่อมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ที่ประชุมบีโอไอขยายเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมฯ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเลื่อนเวลาออกไปจนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งในรายละเอียดโครงการที่มีการขยายเวลานี้ครอบคลุม 4 มาตรการย่อยที่สำคัญ แต่ยังคงสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี
รวมถึงทางบอร์ดบีโอไอเปลี่ยนชื่อมาตรการใหม่ โดยการลบคำว่า “การผลิต” ออกจากชื่อย่อ เพื่อให้การใช้มาตรการใหม่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ
และสุดท้ายปรับปรุงข้อจำกัดของมาตรการ เพื่อยกระดับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะใน Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานกระดาษ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (ISO 22000) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน (ISO 14061) ซึ่งทั้ง 4 มาตรการสำคัญมีเป้าหมายส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเครื่องจักร การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรทางวิศวกรรม การทำ R&D และการพัฒนาที่ยั่งยืน
InterLoop เราพร้อมให้ความช่วยเหลือนักลงทุนในทุก ๆ ขั้นตอน ในด้านการขอยื่น BOI ท่านสามารถติดต่อได้ที่ Line ID: @inlps และ เบอร์โทรศัพท์: 097-106-9113
Leave a Reply