ประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตัวบ่งชี้หลายอย่างของโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงทางดิจิทัลได้แสดงให้เห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นสำหรับประชากรกลุ่มใหญ่ ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าสินค้าออนไลน์รวมเพิ่มขึ้น 68% ในปี 2021 และคาดว่าจะขยายตัวอีก 14% ในช่วงระหว่างปี 2021 ถึง 2025
เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งผ่านนโยบายการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม (Thailand 4.0) และการสร้างสวนดิจิทัลในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลยังมีการประกาศให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนใหม่เมื่อปี 2017 เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ดำเนินกิจการที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี และเปิดตัวนโยบายดิจิทัลระดับชาติ แผนแม่บท 20 ปี เพื่อการพัฒนาทางดิจิทัล (2018-2037) รวมถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่ออำนวยความสะดวก ปกป้อง และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการดิจิทัล
ในขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการพัฒนาด้านดิจิทัล การลงทุนภาคเอกชนที่จำกัด การขาดทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขั้นสูง ความล่าช้าในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และข้อจำกัดด้านงบประมาณล้วนแต่เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น การลงทุนของภาคเอกชนในเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยคิดเป็นเพียง 4% ของ GDP ในปี 2019 เทคโนโลยีดิจิทัลมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในภาคบริการ ซึ่งรวมถึงการค้าส่งและค้าปลีกออนไลน์ บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต และบริการทางการเงิน ส่วนการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตและการเกษตรนั้นยังค่อนข้างจำกัด
การลงทุนภาคเอกชนมีความโดดเด่นมากขึ้นใน EEC โดยมีส่วนแบ่งการลงทุนเพิ่มขึ้นสองเท่าจากประมาณ 30% เป็น 60% ของการลงทุนทั้งหมดในช่วงปี 2017 ถึง 2020 แต่โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงโครงการที่เชื่อมโยง EEC เข้ากับส่วนอื่น ๆ ของประเทศต้องล่าช้าออกไป ส่วนแผนงานที่ชัดเจนสำหรับการเริ่มใช้ 5G ก็ยังไม่ได้มีการประกาศ
การจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐที่จำกัดก็เป็นปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่ค่อนข้างน้อยและลดลงในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นโยบายที่ทับซ้อนและความล้มเหลวในการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายดิจิทัลทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ยกตัวอย่างเช่น มีแผนที่จะออกนโยบายเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานแต่ไม่ได้มีการประสานงานอย่างเหมาะสม
ความคืบหน้าของประเทศไทยในการเข้าสู่อนาคตดิจิทัลกำลังเป็นที่กังขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดทุนมนุษย์ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ไม่เพียงพอและกระจายตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ ในปี 2020 มีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่มีทักษะด้าน ICT ขั้นสูง และประมาณ 20% มีทักษะด้าน ICT ขั้นพื้นฐาน มีจำนวนครัวเรือนเพียง 69% ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบท ขณะที่ในเขตเมืองอยู่ที่ 81%
ค่าใช้จ่ายของบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและบริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ต้นทุน ICT ในประเทศไทยยังคงสูงกว่ามากหากคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ
เพื่อสนับสนุนการลงทุนและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย สิทธิประโยชน์ที่ให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยไม่คำนึงถึงสถานที่ตั้งนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าสิ่งจูงใจที่ให้เฉพาะสถานที่ การให้ความสำคัญกับสถานที่หนึ่งมากเกินไป เช่น EEC ในขณะที่ให้ความสนใจสถานที่อื่น ๆ น้อยลงอาจทำให้การพัฒนาประเทศโดยรวมแย่ลงและส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้มากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็จำเป็นต้องเร่งให้เร็วขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าระบบลอจิสติกส์จะมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและมีราคาที่จับต้องได้
แผนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจำเป็นที่จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ความสอดคล้องของนโยบายและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอาจต้องมีบทบาทอย่างมากในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการทับซ้อนของนโยบายและป้องกันการประสานงานด้านนโยบายและการบังคับใช้ที่ล้มเหลว
การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล กฎระเบียบและข้อบังคับที่มีอยู่ควรได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อรับมือกับความกังวลของสาธารณะ ความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในแง่ของความเข้ากันได้ด้านกฎระเบียบมีความสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ รวมถึงการปกป้องผู้บริโภคจากปัญหาด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสูญเสียงาน รัฐบาลจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการลดปัญหาในตลาดแรงงาน และทำให้การเคลื่อนย้ายคนงานจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งราบรื่นยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการสนับสนุนการเพิ่มทักษะและการพัฒนาทักษะใหม่ ความร่วมมือกับภาคเอกชนก็มีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงานและความซ้ำซ้อนของงานในบริษัทและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
Leave a Reply