คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติการส่งเสริมสิทธิพิเศษสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากมาตรการก่อนหน้านี้หมดอายุในปี 2561 โดยการส่งเสริมใหม่ให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีสำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกตามโรดแมป EV ปี 2030 ที่ร่างโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการให้มี EV คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดต่อปีหรือ 750,000 คันจาก 2.5 ล้านคันที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2573
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่ามาตรการส่งเสริมใหม่นี้ครอบคลุมทุกแง่มุมหลักของซัพพลายเชน โดยมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ และยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ทุกขนาด ทั้งรถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ สามล้อ และเรือ จากเดิมที่มีการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า
“คณะกรรมการอนุมัติมาตรการใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม EV ทั้งระบบ และเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก” นางสาวดวงใจกล่าว
สำหรับกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จะมุ่งเน้นการผลิตแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก ในกรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม
ในกรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
กิจการที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริดจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ สามล้อ รถโดยสาร และรถบรรทุก จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีพร้อมสิทธิพิเศษเพิ่มเติมหากสามารถผ่านเกณฑ์ เช่น เริ่มการผลิตภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ เพิ่มเติม และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ส่วนผู้ผลิตเรือที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 500 ตัน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
นอกจากนี้ BOI ยังอนุมัติให้เพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่ 1) High Voltage Harness 2) Reduction Gear 3) Battery Cooling System และ 4) Regenerative Braking System ผู้ผลิตสินค้าทั้งสี่ประเภทนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ EV ในท้องถิ่น BOI ยังได้อนุมัติมาตรการจูงใจเพิ่มเติมสำหรับการผลิตทั้งโมดูลแบตเตอรี่และเซลล์แบตเตอรี่ สำหรับตลาดในประเทศโดยการลดอากรนำเข้า 90% เป็นเวลา 2 ปี สำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่ไม่มีในประเทศ
นอกจากนี้คณะกรรมการยังอนุมัติหมวดธุรกิจใหม่ 3 ประเภทให้สามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษได้ คือ กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กิจการดูแลผู้สูงอายุ และกิจการวิจัยทางคลินิก โดยผู้ที่ลงทุนในโรงพยาบาลผู้สูงอายุจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี ในขณะที่ผู้ที่ลงทุนในบริการดูแลผู้สูงอายุจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
สำหรับการวิจัยทางคลินิก การส่งเสริมจะมุ่งเน้นไปที่สองกิจการย่อย คือ กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก (Contract Research Organization: CRO) และศูนย์การวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Center: CRC) ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีโดยไม่มีข้อกำหนดด้านงบประมาณสำหรับการลงทุน
ในมาตรการส่งเสริมก่อนหน้านี้ มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการอนุมัติรวม 26 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 7.809 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย HEV 5 โครงการ PHEV 6 โครงการ BEV 13 โครงการ และ E-Bus 2 โครงการ กำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 566,000 คันต่อปี
เตรียมความพร้อมการเป็นศูนย์กลาง EV
รัฐบาลไทยกำลังวางแผนให้ชื่อ “ดีทรอยต์แห่งตะวันออก” กลายเป็นอดีต และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ โดยส่วนที่ยากที่สุดของแผนนี้ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ในการพัฒนา เนื่องจาก EV ไม่ใช่แนวคิดที่ล้ำสมัยอีกต่อไป แต่คือการสร้างความมั่นใจว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
EV กลายเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ขับขี่ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน โดยปีที่แล้วในยุโรปมียอดขายเติบโตสูงถึง 44% ในขณะที่จีนมีการผลิต EV กว่า 1.2 ล้านคันเพื่อรองรับตลาดโลกและทำหน้าที่เป็น Original Equipment Manufacturers (OEM) ให้กับแบรนด์อื่น ๆ จากหลายประเทศ
จีนมีความก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้านในการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV รวมถึงการดำเนินนโยบายและข้อบังคับที่จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของ EV แบรนด์จำนวนมากได้รับการพัฒนาในจีนด้วยราคาที่เหมาะสม และได้กลายเป็นตัวเลือกหลักในประเทศสำหรับทั้งระบบขนส่งสาธารณะและการใช้งานส่วนบุคคล
หากประเทศไทยต้องการเรียนรู้อะไรบางอย่างจากจีน หนึ่งในขั้นตอนแรกคือกฎระเบียบและนโยบายที่สนับสนุนและให้เหตุผลที่น่าเชื่อแก่ผู้บริโภคในการเปลี่ยนจากยานยนต์แบบดั้งเดิมไปเป็น EV จากมุมมองภาคการผลิต รัฐบาลควรเสนอสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดนักลงทุน ส่วนในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญไม่เพียงแค่การเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะหรือแท็กซี่ให้เป็น EV เท่านั้น แต่ยังต้องอำนวยความสะดวกในการจัดหาสถานีชาร์จให้เพียงพอเพื่อรองรับการใช้งานส่วนบุคคลด้วย
การลงทุนครั้งใหม่นี้อาจไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นในการปรับปรุงซัพพลายเชนของยานยนต์ในประเทศไทยใหม่ แต่ยังสามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและเป็นก้าวแรกของการสร้างแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
InterLoop เราพร้อมให้ความช่วยเหลือนักลงทุนในทุก ๆ ขั้นตอน ในด้านการขอยื่น BOI ท่านสามารถติดต่อได้ที่ Line ID: @inlps และ เบอร์โทรศัพท์: 097-106-9113
Leave a Reply