อยากเปิดบริษัทในประเทศจีน ต้องทำอะไรบ้าง?
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลและมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ตลาดการลงทุนในจีนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและนักลงทุนจากทั่วโลก แต่แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดที่น่าสนใจและมียอดนักลงทุนต่างประเทศสูงลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับตลาดอื่น แต่การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล หรือการเปิดบริษัทในเซี่ยงไฮ้ ในฐานะผู้ประกอบการชาวต่างชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในบทความนี้ Interloop จึงมาแชร์ข้อมูลสำคัญ และสิ่งที่นักลงทุนควรรู้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธุรกิจ การกำกับดูแลของภาครัฐ การอนุมัติการจดทะเบียน อุปสรรคข้อจำกัด การยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมตัวก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ ทั้งการศึกษาแผนงานบริษัทและการจัดเตรียมเงินลงทุนที่เหมาะสม
กระบวนการจัดตั้งบริษัทในจีน (ไม่รวมเงื่อนพิเศษที่ได้รับอนุมัติจากทางรัฐบาล) มีลำดับดังนี้
1.ตรวจสอบชื่อบริษัทจากสำนักงานธุรกิจจีน (Business Bureau)
มีคณะบริหารอุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติ (SAIC) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบอนุมัติชื่อบริษัทใหม่
หลักการตั้งชื่อบริษัท นอกจากห้ามใช้ชื่อซ้ำกับชื่อบริษัทที่มีอยู่แล้ว จะต้องเป็นชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจ และผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากทาง AIC (Administration of Industry and Commerce) ก่อน ซึ่งประเมินว่าทาง AIC จะใช้เวลาพิจารณา 2-15 วัน
2.ขออนุญาตจัดตั้งบริษัทกับทางสำนักงานพาณิชย์ในท้องที่ (Commerce Bureau)
นักลงทุนต่างชาติจะต้องยื่นขอจัดตั้งบริษัทกับทาง Commerce Bureau ซึ่งจะต้องยื่นจดหมายการสมัครเป็นนิติบุคคล เมื่อเปิดบัญชีบริษัทด้วย
3.ยื่นขอนุญาตจัดตั้งบริษัทกับทางหน่วยงานพาณิชย์จีน
ภายหลังการดำเนินการในข้อที่ 2 แล้ว ข้อบังคับการตั้งบริษัทใหม่ ทั้งผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้ประกอบชาวต่างชาติ จะต้องยื่นจัดตั้งนิติบุคคลกับหน่วยงาน 2 แห่ง คือ กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) และ SAIC เพื่อออกใบรับรองและใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ ถึงจะสามารถเริ่มทำธุรกิจและขยายสาขาในจีนได้
4.รายละเอียดในใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ
เมื่อธุรกิจได้รับอนุมัติและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ให้ใช้วันที่ในใบอนุญาตฯ เป็นวันที่ก่อตั้งบริษัท
5.การประทับตรา (แสตมป์)
สำหรับการลงนามในพัสดุหรือไปรษณีย์ลงทะเบียน จะต้องผ่านการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่รัฐ
6.การเปิดบัญชี (ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนคือ BOC)
การเปิดบัญชีบริษัท ควรเลือกธนาคารที่เหมาะกับธุรกิจ เพราะต้องใส่เงินทุนเข้าไป จึงควรเลือกธนาคารระหว่างประเทศ (International Bank) เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หรือการโอนเงินไปประเทศของเจ้าของธุรกิจเอง โดยธนาคารที่เราแนะนำคือ HSBC เนื่องจากเป็นธนาคารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นสากลและเป็นธนาคารที่มีสำนักงานหลักอยู่ในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง
7.การลงทะเบียนภาษี
บริษัทที่จดทะเบียนในจีนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับตามที่ระบุในกฎหมายการจัดเก็บภาษี โดยจะต้องส่งรายงานบัญชีเป็นรายเดือน เพื่อแสดงรายการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงจะต้องยื่นรายงานประจำปี ซึ่งประกอบด้วยการแสดงงบการเงินและรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับทางหน่วยงานรัฐบาลจีน
ประเภทของภาษีที่ผู้ประกอบการที่จัดตั้งธุรกิจรูปแบบชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการ (WFOE) หรือรูปแบบการร่วมทุน (Joint-Venture) จะต้องทราบมีดังนี้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล : การจัดเก็บภาษีขึ้นกับกำไรของบริษัท (หรือรายได้รวมลบค่าใช้จ่ายบริษัท) 25% อย่างไรก็ตามในกฎหมายให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เช่น ในกรณีที่ผู้ประกอบการทำธุรกิจในเซ็คเตอร์ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 15%
- ภาษีการค้า (หรือภาษีการซื้อขาย) : เป็นภาษีที่จัดเก็บในอัตรา 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ (ยกเว้นธุรกิจบันเทิงหรือธุรกิจเอนเตอร์เทนเม้นท์ ที่จัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง ตั้งแต่ 5-20%
- ภาษีศุลกากร : เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าหรือส่งออกจากจีน ซึ่งก็มีการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน เช่นบริษัทที่อยู่ในเขตการค้าเสรี
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม : ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ในจีน จัดเก็บในอัตรา 17% เช่นเดียวกับภาษีการบริโภคในยุโรป ที่ไม่สามารถปฏิเสธการจ่ายได้
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เป็นภาษีที่เก็บจากเงินปันผลธุรกิจ และเงินเดือนของลูกจ้างในบริษัท
8.การลงทะเบียนขอใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจากทางกรมศุลกากร
จะต้องลงทะเบียนที่กรมศุลกากร โดยแสดง Identity Card (IC card)
ทั้งนี้ก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในจีน ผู้ประกอบการจะต้องเลือกรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนก่อน โดย Interloop ได้รวบรวมมาให้ว่ารูปแบบการจัดตั้งธุรกิจที่เป็นรูปแบบทั่วไป เหมาะกับบริษัทต่างชาติ ประกอบด้วย การทำธุรกิจแบบการร่วมทุน (Joint Venture) การตั้งสำนักงานผู้แทน ( the Representative Office) กิจการที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการ (the Wholly Foreign Owned Enterprise : WFOE) และกิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership Enterprise)
โดยรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจแต่ละประเภทจะมีเงื่อนไขต่างกัน สิทธิประโยชน์และข้อจำกัดด้านการลงทุนจึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเลือกรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อกำหนดขอบเขตในเบื้องต้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ หากเลือกได้ถูกประเภท จะทำให้การทำธุรกิจราบรื่นและประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจในจีน
รายละเอียดรูปแบบการจัดตั้งบริษัท มีดังนี้
- การทำธุรกิจแบบการร่วมทุน (JV)
เป็นความตกลงของพาร์ทเนอร์คู่ค้าทั้ง 2 ฝ่ายจาก 2 ประเทศ คือทุนธุรกิจต่างชาติและทุนจีนที่อยากทำธุรกิจร่วมกันในระยะยาว โดยการทำธุรกิจรูปแบบนี้เป็นวิธีการแบบดั้งเดิม ทั้งในแง่การจัดการเชิงพาณิชย์ การบริหารจัดการธุรกิจและการเงิน รวมถึงการจัดการในเชิงเทคนิคต่าง ๆ เนื่องจากมีโมเดลจากการทำธุรกิจร่วมกัน เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งธุรกิจทั้งกำไรขาดทุน รวมถึงความเสี่ยงจะแบ่งสัดส่วนการรับผิดชอบในอัตราที่เท่ากัน สำหรับการลงทุนรูปแบบนี้รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจที่มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีน - การตั้งสำนักงานผู้แทน (the Representative Office : RO)
การตั้งสำนักงานผู้แทน เพื่อใช้ติดต่อธุรกิจระหว่างลูกค้ากับบริษัท เสมือนกับการติดต่อสำนักงานใหญ่ โดย RO จะบริหารจัดการทั้งหมดทั้งในด้านการตลาด งบการเงิน ฯลฯ การจัดตั้งธุรกิจประเภทนี้เหมาะสำหรับบริษัทที่อยากทำธุรกิจในจีน แต่ไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งบริษัทใหม่ รูปแบบนี้จึงเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว - กิจการที่ต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการ (the Wholly Foreign Owned Enterprise : WFOE)
สำหรับการเปิดบริษัทรูปแบบนี้ เหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภท แต่จำกัดสิทธิ์เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น ส่วนข้อจำกัดหรือความเสี่ยงนั้น ขึ้นอยู่กับเงินทุนจดทะเบียนมากกว่าข้อจำกัดของประเภทการจัดตั้งบริษัท - กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership Enterprise)
รูปแบบการจัดตั้งบริษัทประเภทนี้เหมาะสำหรับการลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วน ไม่จำกัดสัญชาติ อาจจะเป็นนักลงทุนจีนกับนักลงทุนต่างชาติ หรือเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนต่างชาติก็ได้ เหมาะสำหรับบริษัทขนาดกลางที่มีข้อจำกัดด้านการเงิน หรือมีข้อจำกัดเรื่องทุนจดทะเบียน ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งบริษัทในรูปแบบ WFOE ได้
อย่างไรก็ตามสุดท้ายอยากฝากว่าขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทตลอดจนการดำเนินธุรกิจในจีน มีหลายขั้นตอนและซับซ้อน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนจะต้องหาข้อมูลก่อนเริ่มต้นลงทุน เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และหนึ่งในทางเลือกคือการมีที่ปรึกษาการทำธุรกิจ เพื่อช่วยจัดการเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยเฉพาะการเลือก Agency ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ และมีประสบการณ์การดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ให้กับนักลงทุนในต่างประเทศมามาก จะช่วยให้การทำธุรกิจในจีนเป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีโอกาสเติบโตในตลาดโลก
Leave a Reply