BOI เคาะมาตรการชุดใหญ่ บรรเทาผลกระทบ Covid-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 นอกจากรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจให้กับประชาชนแล้ว ในด้านการส่งเสริมการลงทุน ก็ให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานกลางสำหรับการให้ข้อมูลสำหรับนักลงทุน ซึ่งนั่นก็คือสำนักงานบีโอไอ เพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหน้าที่ของบีโอไอไม่ได้สนับสนุนการลงทุนใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาบีโอไอได้ดูแลและออกมาตรการสำหรับธุรกิจขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี ล่าสุดบีโอไอได้อนุมัติมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ในภาคธุรกิจ รวมถึงการออกมาตรการเร่งรัดลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บอร์ดได้อนุมัติมาตรการหลายอย่าง ทั้งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว ตอบรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของประชาชนในประเทศ สำหรับการพัฒนาในระยะยาว
โดยนโยบายส่งเสริมการลงทุนในช่วงนี้ BOI ได้ปรับเงื่อนไขบางอย่างในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการแพทย์ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่อยู่ในความเสี่ยง เพื่อเร่งการลงทุนที่ต้องผลิตอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ด้านการแพทย์ที่มีความจำเป็น ทั้งนี้สนับสนุนการเปลี่ยนสายการผลิตชั่วคราว เพื่อรองรับความต้องการด้านเวชภัณฑ์ในประเทศ รับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน
มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ประกอบด้วย
1.ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเดิมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี อยู่แล้ว เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา เป็นต้น
โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 และต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้จะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564
2.มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิม เพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์
โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยต้องนำเข้าภายในปี 2563 และยื่นขอแก้ไขโครงการภายในเดือนกันยายน 2563
3.การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ครอบคลุม Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยได้เพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการผลผลิตการเกษตรให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในกิจการผลิต Non-Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์ โดยให้ยกเว้นภาษี 5 ปีจากเดิม 3 ปี
มาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ ในช่วง Covid-19
นางสาวดวงใจกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม บอร์ดจึงเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยผ่อนปรนเงื่อนไขและพิจารณาขยายเวลาการดำเนินการสำหรับกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรและเปิดดำเนินการ การขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน
ปรับปรุงสิทธิประโยชน์และประเภทกิจการ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D)
บอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบให้ขยายขอบข่ายการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ
กระตุ้นให้มีการพัฒนาระบบเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)
การผลักดันและส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนในกิจการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบ หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศ โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนความเข้มงวดเพื่อส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการจูงใจทางภาษีด้วย
การอนุมัติมิตซูบิชิลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม BOI ได้อนุมัติโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าการลงทุนรวม 5,480 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสายการผลิตรถยนต์เดิมที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตรวม 39,000 คันต่อปี แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles – BEV) ประมาณ 9,500 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles – HEV) ประมาณ 29,500 คันต่อปี โดยจะเริ่มผลิตประมาณปี 2566 และจะมีการส่งออกไปตลาดอาเซียนด้วย
การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม–มีนาคม 2563
นอกจากนี้แล้วสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่า จำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวม 378 โครงการ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 368 โครงการ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนในด้านมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยรวม คิดเป็น 71.38 พันล้านบาท ลดลง 44% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้การลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่ารวม 27,430 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของการลงทุนทั้งหมด โดยนักลงทุน 3 ลำดับแรกมาจากญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง
สุดท้ายหากคุณสนใจและอยากยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้ผลดีที่สุดต่อธุรกิจ สามารถติดต่อเราได้ทุกวันและทุกเวลา ซึ่งไม่เพียงแค่ให้รายละเอียดและความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของ BOI แล้ว InterLoop Solutions & Consultancy Co., Ltd. เรายังให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการ เพื่อให้การยื่นขอบีไอโอของคุณราบรื่นและไม่ยุ่งยาก
Leave a Reply