ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการควบคุมค่าเงินบาทแข็งตัว

150 150 admin

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งผลักดันมาตรการพัฒนาระบบ FX Ecosystem และจำกัดความผันผวนของค่าเงินที่มากเกินไป

ในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบาง เงินบาทแข็งค่าขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่การประชุม กนง. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย (5.3%) และเงินวอนของเกาหลี (5.2%)

นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน เปิดเผยว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีการไหลเวียนของเงินทุนเข้าสู่ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึงไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และต้องการการสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คลายตัว นอกจากนี้เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทย ธปท. ได้ออกมาตรการเพิ่มเติม  ดังต่อไปนี้

 

1. อนุญาตให้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้อย่างเสรี

รวมถึงอนุญาตให้โอนเงินระหว่างบัญชีได้ ช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถทำธุรกรรม FCD ทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม

บัญชี FCD ยังอาจใช้เพื่อกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เช่น ตราสารทุนต่างประเทศและทองคำในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

2. ผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขีดจำกัดการลงทุนและการขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อขยายตัวเลือกการลงทุนและเพิ่มการกระจายพอร์ตการลงทุน

  • เพิ่มวงเงินลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยจาก 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็น 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังไม่จำกัดการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านสถาบันการเงินในประเทศ เช่น บริษัทนายหน้าและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
  • ไม่จำกัดการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศสำหรับผู้ลงทุนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  • อนุญาตการจดทะเบียนในประเทศไทยของหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ที่ติดตามหลักทรัพย์ต่างประเทศ

 

3. ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้

นักลงทุนจะต้องดำเนินการลงทะเบียนให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะลงทุนในตราสารหนี้ในไทย โดยการลงทะเบียนล่วงหน้าจะช่วยเพิ่มการเฝ้าระวังทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงสามารถดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดได้อย่างทันท่วงที  ประเทศอื่น ๆ ที่ใช้มาตรการการจดทะเบียนลักษณะเดียวกัน ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน

 

ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%

กนง. ประเมินว่าแม้ที่ผ่านมาผลจะออกมาดีเกินคาด แต่เศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวได้ช้าและต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ รวมถึงรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่จำกัดไว้เพื่อดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสูงสุด

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นเกินคาด อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวจะยังคงทำได้ช้าและแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละภาคเศรษฐกิจ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับเดิมก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19

ตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางเนื่องจากรายได้แรงงานยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยหลังจากสิ้นสุดปัจจัยสนับสนุนชั่วคราว รายจ่ายสาธารณะคาดว่าจะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ระบบการเงินยังคงมีเสถียรภาพแม้ว่าจะมีช่องโหว่ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน

ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะมีค่าใกล้กับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 แม้จะมีสภาพคล่องในระบบที่เพียงพอและต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ แต่ธุรกิจบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs และครัวเรือนที่ต้องการสภาพคล่องไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

คณะกรรมการได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบาง โดยจะติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตราต่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างใกล้ชิด รวมถึงจะพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

 

Standard and Poor’s คงอันดับเครดิตของประเทศไทยไว้ที่ BBB +

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor’s ยังคงรักษาระดับความเชื่อมั่นของประเทศไทยไว้ที่ BBB+ แม้ว่าจะมีความวุ่นวายจากโควิด-19 และความไม่สงบทางการเมือง Patricia Mongkolvanich ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้สาธารณะของ S&P Global Ratings เปิดเผยว่าหน่วยงานดังกล่าวยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับ BBB+ โดยมีแนวโน้มที่มั่นคงจากความแข็งแกร่งทางการคลัง สำรองเงินตราต่างประเทศ และหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ

มีการประเมินว่าปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและฝ่ายบริหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางหน่วยงานมั่นใจในการเงินของประเทศไทยแม้ว่าจะมีมาตรการที่จำเป็นเพื่อตอบสนองต่อโควิด-19 ส่งผลให้ปี 2563-2564 ขาดดุลและมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น S&P คาดการณ์เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในระยะกลางและจะดีขึ้น 6.2% ในปีหน้าจากการท่องเที่ยวและการลงทุนของรัฐ นอกจากนี้ยังเห็นว่าทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ดี โดยประเด็นที่หน่วยงานกำลังจับตามอง ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะกลาง

 

ติดตามช่องทางสำหรับรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่ 

Youtube: Interloop Solutions & Consultancy

Leave a Reply

Your email address will not be published.