การส่งเสริมการลงทุน BOI หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

512 341 admin

การส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในงานพบปะสื่อมวลชนต่างประเทศ ในหัวข้อ Thailand’s Investment Ecosystem Update ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในหัวข้อ Thailand’s Investment Ecosystem Update ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หรือโครงการเมกะโปรเจคท์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

โดยนายกอบศักดิ์ ได้ร่วมพูดคุย อัพเดตสถานการณ์และตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความกดดันจากภูมิรัฐศาสตร์และข้อพิพาทการค้าที่ยังคังเป็นกระทบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้

 

ซึ่งในตอนเริ่มต้นนั้น อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงภาพรวมที่เป็นปัจจัยบวกว่า เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถรองรับความผันผวนในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อนาคต โดยหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ท้าท้ายต่อเศรษฐกิจก็คือ การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือเศรษฐกิจชุมชน ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มเกษตรกร การเพิ่มความสามารถการแข่งขันการส่งออก และการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการเร่งเบิกจ่ายสาธารณะ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน

 

ทั้งนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานอนาคตประเทศไทย ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบิน ตลอดจนการวางโครงข่ายรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ

 

“เพราะฉะนั้นนี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทย” นายกอบศักดิ์กล่าว

 

นอกจากนี้ในด้านการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย หรือข้อกฎหมายที่ซับซ้อน ไม่เอื้อการลงทุน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจสายตานักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ดำเนินการแก้ปัญหาด้านแรงงาน โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ รายงานยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 รวม 756,100 ล้านบาท หรือประมาณ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทะลุเป้าหมายที่วางไว้ 750,000 ล้านบาท โดยในยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนนี้ คิดเป็นการลงทุนโดยตรง (FDI) 506,200 ล้านบาท หรือประมาณ 67% แบ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากจีน 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นญี่ปุ่นและฮ่องกง 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

 

นางสาวดวงใจกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการลงทุนจะให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนตาม location-based เพื่อโฟกัสกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามแนวทางของนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดในปี 2562 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยรวมคิดเป็น 38% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้มูลค่าการลงทุน 42% มาจากโครงการ FDI

 

ในงานพบปะสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่ FCCT นอกจากจะมีการฉายภาพรวมเศรษฐกิจ การรายงานตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุน ที่สะท้อนถึงการลงทุนของภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ในส่วนการค้าและส่งการส่งออก นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยยังคงมี Performance ที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่มีความอ่อนแอและมีความท้าทายหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยสินค้าไทยที่น่าสนใจ เช่น การส่งออกผักและผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง แฟชั่น เครื่องประดับอัญมณี ล้วนเป็นสินค้าที่สร้างการเติบโตให้กับภาคการส่งออกไทย

 

“สินค้าในรายการดังกล่าว ทำให้การส่งออกปี 2561 ขยายตัวได้ถึง 6.5%” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว ทั้งนี้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ คิดเป็น 11% ของการส่งออกทั้งหมด

 

ด้านนายกอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าถามว่าทำไมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ยังขยายตัวช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เป็นเพราะว่าเราขาดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนี้ อย่างไรก็ตามการเร่งลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คท์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของเอเชียในอีก 20 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นประเทศเราจึงต้องพัฒนาความสามารถการแข่งขัน เพื่อใช้ความได้เปรียบในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ไทยตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน เป็นตัวเชื่อมต่อซัพพลายเชนและการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาค

 

บีโอไอสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสถาบันการศึกษา

 

และหนึ่งในการแผนการขับเคลื่อน Thailand 4.0 คือการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คาดว่าจะเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน ในในเขตพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด นอกกรุงเทพมหานคร โดยแผนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้นั้น ในอีอีซีจะมีอาชีพใหม่ 475,000 ตำแหน่ง ในปี 2566 โดยเฉพาะในระดับการศึกษาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี หรือในสายวิชาชีพที่มีความซับซ้อน

 

อย่างไรก็ตามคาดว่าไทยจะพัฒนาได้เต็มศักยภาพในปี 2578 ทำให้อาเซียนเป็นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยจะต้องพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรม (Innovation) และขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โรโบติกส์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ การบินและอวกาศ หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก

 

ซึ่งด้วยความตระหนักในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลจึงแยกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้บุคลากรทำงานกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มการวิจัยและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ขณะที่บีโอไอก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ให้กับการพัฒนา HRD ในโครงการส่งเสริมการฝึกอาชีพ หรือการเพิ่มทักษะเฉพาะทางในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่าเป็นสาขาวิชา STEM

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.